วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เรียนนิทานสำราญใจ

เรียนนิทานสำราญใจ
กระต่ายเจ้าปัญญา

เรื่องโดย พิมพา ฤทธิรณ
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ ป่ากว้างใหญ่แห่งหนึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาช้านาน
จนวันหนึ่งสัตว์ป่าต่าง ๆ เกิดความทุกข์ใจเป็นอย่างมากที่รู้ว่าอันตรายจะมาถึงตน เนื่องมาจากราชสีห์เจ้าป่าตัวหนึ่งได้ออกอาละวาดไล่จับสัตว์อื่นกินโดยไม่เลือกหน้า ด้วยความโหดร้ายไม่เว้นแม้แต่มดตัวเล็ก ๆ ใครขวางทางราชสีห์ฆ่ากินหมด จนทำให้จำนวนสัตว์ในป่านั้นลดน้อยทุกวันและเหลือน้อยเต็มที สัตว์ทั้งหลายที่เหลืออยู่รวมกับเจ้ากระต่ายตัวหนึ่ง ได้ตกลงกันในที่ประชุมว่าไม่ควรให้ราชสีห์ตัวนี้เที่ยวจับกินสัตว์ตามอำเภอใจ กระต่ายรับอาสาวิ่งไปบอกกับราชสีห์ว่าต่อไปนี้ “ ราชสีห์ไม่ต้องออกไปหากินให้ลำบาก พวกข้าจะจัดเวรกันมาเป็นอาหารให้กับท่านทุก ๆ เช้าและทุก ๆ วัน ” ราชสีห์ได้ฟังก็หลงเชื่อนึกดีใจดีเหมือนกัน ข้าจะรอพวกเจ้าจนถึงเช้าโดยไม่ออกไปทำร้ายสัตว์อื่น ๆ อีกต่อไป
เจ้ากระต่ายวิ่งกลับมาบอกเพื่อน ๆ สัตว์ด้วยความดีใจ สัตว์น้อยใหญ่ต่างก็รอดตายและนอนตาหลับในคืนนั้นตลอดคืนโดยไม่มีใครมารังแก
เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่กระต่ายนัดกับราชสีห์ไว้ว่าจะไปให้ราชสีห์กินเป็นอาหาร ราชสีห์คอยอยู่ตั้งแต่เช้าตรู่ด้วยความหิวกระหายเป็นที่สุด ส่วนกระต่ายค่อย ๆ เดินไปอย่างช้า ๆ ถ่วงเวลาให้สายจนเลยเที่ยงให้ราชสีห์หิวจัดและโกธรมาก ๆ
เมื่อมาถึงราชสีห์ตะคอกถามกระต่ายว่า “ ทำไมเจ้ามาช้านัก ” กระต่ายตอบราชสีห์โดยใช้ปัญญา “ว่าข้าพยายามจะมาให้ท่านกินตั้งแต่เช้านั่นแหละ แต่ในขณะที่ข้าเดินทางมาข้าพบกับราชสีห์อีกตัวหนึ่ง มันจะกินข้าเช่นกันข้าบอกว่าไม่ได้หรอก ข้าต้องมาของอนุญาตท่านก่อนและมันยังฝากมาท้าท้ายท่านว่าให้ไปประลองกำลังกันว่า ใครจะได้เป็นเจ้าป่า ” ด้วยความโกรธราชสีห์จึงหลงเชื่อให้เจ้ากระต่ายพาไปพบผู้ท้าทาย
กระต่ายพาราชสีห์ไปยังหน้าผาสูงชันข้างล่างมีน้ำใส ราชสีห์ถามกระต่ายว่า“ ไหนล่ะมันอยู่ไหน” กระต่ายให้ราชสีห์มองลงไปในน้ำ ราชสีห์เห็นเงาราชสีห์อันใหญ่โตก็โกรธแค้นเป็นที่สุด กระโจนลงไปในน้ำหมายจะฆ่าผู้ท้าทายนั้นให้ตาย และทั้งคู่ก็จมหายไปกับกระแสน้ำในพริบตา
กระต่ายดีใจมากกระโดดโลดเต้นกลับไปบอกเพื่อน ๆ พวกเรารอดตายแล้ว


นิทานเรื่องนี้ ให้คติเตือนใจว่า
1. ความโกรธทำให้เราขาดสติ ขาดความยั้งคิด เหมือนคนตาบอด
2. อย่าหลงเงาตัวเอง หลงอำนาจ สักวันภัยจะมาถึงตัว
3. ผู้มีปัญญาย่อมแก้ไขปัญหาพาให้สังคมอยู่อย่างสงบสุขได้

ที่มา: ดร.กุสุมา รักษมณี. (๒๕๓๘). นิทานวานบอก. พิมพ์ครั้งที่ ๒.
กรุงเทพมหานคร : บริษัทพับลิคบิสเนสพรินท์.

คำถามประจำบท

คำชี้แจง ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้
. เจ้าป่าหมายถึงใคร
. เจ้าป่ามีหน้าที่ อย่างไร
. ใครเป็นผู้ฆ่าราชสีห์ได้สำเร็จ
. ราชสีห์ตาย เพราะเหตุใด
. นิทานเรื่องนี้ให้ข้อคิดอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น: