วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ฝันถึงพลายบุญมา

เรื่อง ฝันถึงพลายบุญมา

เรื่อง ฝันถึงพลายบุญมา

ในจังหวัดสุรินทร์มีการเลี้ยงช้างอยู่กระจัดกระจายออกไปในหลายอำเภอ แต่ที่ทำชื่อเสียงให้จังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักของขาวโลกมากที่สุดก็ได้แก่”หมู่บ้านช้าง” ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านช้างมีแม่น้ำมูลไหลผ่าน ดังนั้นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่เรียงรายไปตามฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งแต่ละครอบครัวจะมีช้างเป็นสัตว์เลี้ยงไว้ใช้งานอยู่คู่บ้านมาช้านาน
บุหงาอยู่บ้านขวาวโค้ง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอยู่กันคนละฝั่งกับหมู่บ้านช้าง หมู่บ้านของบุหงาจะอยู่ฝั่งทางทิศเหนือ ส่วนหมู่บ้านช้างจะอยู่ฝั่งทางทิศใต้ของแม่น้ำมูล ดังนั้นทั้งสองฝั่งแม่น้ำมูลจึงเหมาะกับการเลี้ยงกับการเลี้ยงช้าง ซึ่งชาวบ้านได้อาศัยแรงงานช้างช่วยทำงานได้สารพัด เช่นทำสวน ทำไร่ ชักลาก ลากซุง บรรทุกสิ่งของและทำนาก็ได้ นอกจากนั้นยังใช้ช้างเป็นพาหนะ ร่วมขบวนแห่ประเพณีต่าง ๆ ในชุมชนนั้น เช่นงานแห่นาค หรืองานฉลองต่าง ๆ อีกด้วย

ปู่และพ่อของบุหงาก็มีช้างที่ได้เลี้ยงสืบทอดกันมาช้านาน พ่อบอกว่าเจ้าพลายบุญมาเป็นลูกของช้างค่อม ซึ่งปู่เคยเลี้ยงมาก่อนหน้านี้ บุหงาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเจ้าพลายบุญมามีอายุเท่าไร เพราะตั้งแต่บุหงาเกิดมาก็เห็นพลายบุญมาจนถึงบัดนี้ พ่อสอนให้บุหงาเรียกชื่อพลายบุญมา และหัดพูดออกคำสั่งให้พลายบุญมายกขาหน้า คุกเข่าบ้าง เก็บของบ้างแล้วแต่โอกาสจนบุหงาและพลายบุญมาคุ้นเคยกัน บุหงารักพลายบุญมามากพอ ๆ กับความใหญ่โตของมันเลยทีเดียว บางครั้งหลังจากที่เลิกใช้งานพลายบุญมาแล้ว พ่อจะพาบุหงาขึ้นขี่คอพลายบุญมาเดินเล่นรอบ ๆ หมู่บ้านเป็นที่สนุกสนานหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ จนทำให้บุหงาคิดว่าพลายบุญมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเสียแล้ว ก่อนสว่างทุก ๆ วันพลายบุญมาใช้ลำตัวของมันถูกับเสาเรือน เหมือนจะคอยเตือนพวกเราว่าสว่างแล้ว ให้รีบพากันตื่นไปทำงานกันตามหน้าที่ของตนได้แล้ว และก็เหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ทุกคนจะตื่นแต่เช้ามืด พ่อจะปล่อยพลายบุญมาออกจากที่ล่ามโซ่ แล้วขี่คอพลายบุญมาออกไปกินน้ำที่ฝั่งแม่น้ำมูล ก่อนที่จะพาพลายบุญมาไปทำงานรับจ้างในงานไร่ในสวนเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งก็เป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่มาจุนเจือครอบครัวของเรามิได้ขาด แม่และน้องช่วยกันจัดของ ขนของขึ้นรถซึ่งประดิษฐ์จากรถมอเตอร์ไซด์กับรถเข็น กลายเป็นรถสามล้อเร่ขายของไปตามหมู่บ้าน
ส่วนบุหงาจะทำหน้าที่หุงข้าว ทำกับข้าวไว้รอพ่อกับแม่และน้อง ๆ ซึ่งเมื่อกลับมาจากขายของ จะได้กินกันทุกคนในครอบครัวของบุหงาจะปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรตลอดมา จะไม่มีใครเกี่ยงงานทุก ๆ คนจะช่วยกันทำงานตามหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบจนงานสำเร็จ บุหงานึกถึงบทเรียนภาษาไทยบทที่ ๔ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ คุณครูสอนเรื่องอยู่กันอย่างไรให้เป็นสุข คุณครูต้องการปลูกฝั่งและฝึกหัดให้นักเรียนทุกคนเป็นคนดี ช่วยเหลือพ่อ แม่ รู้จักการทำงานมีความรับผิดชอบ ทำงานตามหน้าที่ของตนเองให้สำเร็จแล้วรู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเอง ไม่เป็นคนเกียจคร้านหรือเกี่ยงงาน ซึ่งจะทำให้ครอบครัว
ชุมชน หรือสังคมนั้นอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
ตกเย็นวันหนึ่งปู่มาที่บ้านของพ่อแล้วแจ้งให้ทราบว่า ทางชมรมผู้เลี้ยงช้างจังหวัดสุรินทร์ ให้ผู้ที่เลี้ยงช้างนำช้างของตนเองไปร่วมคัดเลือก เพื่อเข้าแสดงในงานช้างซึ่งเป็นงานประจำปีของชาวจังหวัดสุรินทร์ ที่จะจัดขึ้นกลางเดือน
พฤศจิกายน ๒๕๔๖ มีการแสดงของช้างให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้ชมกันในครั้งนี้จะมีการบันทึกในหนังสือระดับโลกด้วย ซึ่งจัดยิ่งใหญ่กว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา ปู่บอกว่าปีนี้ที่หมู่บ้านของเราน่าจะมีช้างที่ได้ไปแสดงในงานกันหลายเชือก ปู่พูดต่อไปอีกว่า พลายบุญมากำลังหนุ่มพอดี มีท่าทางสง่างาม มีไหวพริบว่องไวกว่าช้างตัวอื่น ๆ ที่ปู่เคยเห็น บุหงาบอกกับพ่อว่าปีนี้อยากไปดูช้างแสดงด้วย แม่และน้อง ๆ ก็สนับสนุนอีกแรงหนึ่ง พ่อไม่พูดอะไรเพียงพยักหน้ารับรู้เท่านั้น
ทั้งปู่และพ่อก็ยิ้มด้วยความมั่นใจกับพลายบุมา หากมันรู้และเข้าใจภาษาคนที่ปู่กับพ่อคุยกันอยู่บนเรือน มันคงภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง บุหงาชะเง้อหน้าไปมองข้าง ๆ บ้านเห็นมันยืนหลับตา สะบัดใบหูอันใหญ่ทั้งสองข้างไล่ยุงอยู่ไปมา บุหงาหันกลับมาก็เห็นปู่ลงจากเรือนไปเสียแล้ว พอถึงเดือนพฤศจิกายน หมู่บ้านขวาวโค้งของเราเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเร็วกว่าปกติ ปู่กับพ่อนั้นแล้วเสร็จก่อนใคร ๆ เพราะรู้ดีว่าปีนี้ต้องนำพลายบุญมาและช้างตัวอื่น ๆ ไปร่วมพิธีต้อนรับช้างทั่วสารทิศในเขตจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งทางจังหวัดจะจัดโต๊ะอาหารเลี้ยงช้าง โดยการนำอาหาร ประเภทพืชผักผลไม้นานาชนิด มาจัดตกแต่งอย่างสวยงาม ผลไม้บางชนิดถูกแกะสลักเป็นลวดลายด้วยความประณีต ดูสวยงามจับใจมีการประกวดการจัดโต๊ะอาหารเลี้ยงช้างในครั้งนี้ด้วยพืชผัก ผลไม้ ได้รับการตั้งชื่อใหม่อย่างไพเราะ คล้องจองกัน เช่นแตงกวา ซึ่งในงานเลี้ยงช้างเขาจะเรียกว่า เขียวละออ ส่วนแตงโมจะเรียกกันว่า แดงเนื้อใน แม้แต้กล้วยน้ำหว้า ก็เรียนว่า เจ้าเนื้อนวล รวมทั้งอ้อยที่ช้างชอบกินก็เรียกว่า ข้อล่ำซำ เป็นต้น ทั้งอาหารอื่น ๆ อีกมากมายเลี้ยงช้างทุกตัวอย่างอิ่มหนำสำราญโดนทั่วกัน พ่อล่ามพลายบุญมาไว้ด้วยโซ่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งกลางทุ่งนา อยู่ถัดไปก็จะเห็นช้างตัวอื่น ๆ ที่ชาวบ้านนำมาล่ามไว้ให้กินใบไม้และตอซังที่ชาวนาเกี่ยวข้าวไปแล้ว เรียงรายกันเต็มไปหมด บุหงามองออกไปนอกหน้าต่างของโรงเรียนก็สามารถมองเห็นได้ชัดเจน พลายบุญมาของบุหงาดูสง่างาม มีงาทั้งสองข้างยาวเหมือนมีดดาบ ใบหูกว้างใหญ่กว่าตัวอื่น ๆ มีงวงที่อวบอิ่มและแผงหางดกดำเส้นยาวเป็นพิเศษ บุหงาไม่ลืมที่พ่อสั่งไว้ว่า พักเที่ยงให้บุหงาไปเปลี่ยนที่ล่ามเจ้าพลายบุญมาด้วย ส่วนพ่อจะเข้าไปแจ้งกับทางอำเภอพร้อมกับเพื่อนบ้าน เรื่องการที่จะนำช้างไปร่วมงานที่จังหวัดสุรินทร์
ภาพที่เห็นเป็นปกติหลังฤดูเกี่ยวคือนักเรียนโรงเรียนบ้านขวาวโค้งหลายคนพากันวิ่งไปหาช้างของตนเอง และสามารถออกคำสั่งให้ช้างเดินหน้า ถอยหลังหรือทำตามคำสั่งต่าง ๆ ได้ ถ้าเป็นนักเรียนชายก็จะสามารถขึ้นขี่คอช้างได้อีกด้วย บุหงาเปลี่ยนที่ล่ามให้พลายบุญมาไปกินใบไม้ต้นอื่นที่อยู่ถัดไปไม่ไกลนัก บุหงาพูดกับพลายบุญมาว่า พรุ่งนี้แล้วซินะจะได้ไปแสดงในงานช้างที่จังหวัดสุรินทร์กับแม่และน้อง ๆ จะไปเป็นกำลังใจให้เจ้าด้วยจ๊ะ
บุหงานึกถึงหน้าที่อันสำคัญและน่าภาคภูมิใจกว่าใครของพลายบุญมาที่จะได้ไปร่วมงานแสดงงานประจำปี ให้ชาวต่างชาติที่มาจากทั่วโลกได้เห็น บุหงานึกชื่นชมเจ้าพลายบุญมาของเขาเป็นอย่างยิ่งที่ได้ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติครั้งนี้ ช่างยิ่งใหญ่สมกับตัวของมันจริง ๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งทำให้บุหงาเปรียบเทียบพลายบุญมาซึ่งเป็นเพียงสัตว์เท่านั้น ยังจับมาสอนได้จนรู้จักเชื่อฟัง เจ้าของไม่เลือกนาย ไม่เลือกงาน คอยรับใช้และช่วยเหลือครอบครัวของบุหงาโดยตลอด แม้แต่เงินทุนที่บุหงาและน้อง ๆ ที่ใช้เรียนต่อ ส่วนหนึ่งก็มาจากแรงงานและค่าตัวของพลายบุญมา ที่เขาจ้างให้มาแสดงในงานช้างนั่นเอง
พวกเราเป็นนักเรียนและที่สำคัญเราเป็นมนุษย์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าพลายบุญมาก็ควรจะรู้หน้าที่ของตนเอง ตั้งใจทำหน้าที่ในการศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร ไม่เป็นคนเกียจคร้าน รักการทำงานและอาสางาน ช่วยเหลือครอบครัว ช่วยเหลือโรงเรียนจะได้ชื่อว่า เป็นการช่วยเหลือประเทศชาติบ้านเมืองในที่สุด แล้ววันนั้นก็มาถึง แม่บอกบุหงาให้เตรียมกระเป๋าและของใช้เท่าที่จำเป็นตั้งแต่เช้า รถกระบะที่ปู่กับพ่อร่วมกันกับเจ้าของช้างตัวอื่น ๆ เช่าเหมาเอาไว้ติดเครื่องรออยู่แล้ว บุหงาและน้อง ๆ รู้สึกตื่นเต้นดีใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่จะได้ไปเห็นเมืองสุรินทร์ ซึ่งเป็นจังหวัดของตนเอง บุหงาเคยได้อ่านและท่องคำขวัญของจังหวัดสุรินทร์ที่คุณครูสอนไว้ว่า “สรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม” ซึ่งวันนี้บุหงาจะได้เห็นจังหวัดสุรินทร์จริง ๆ เสียที่ บุหงาจินตนาการไปต่าง ๆ นานา ไม่รู้สึกหิวอะไรเลย ธงชาติ ธงสี ไฟประดับประดา ป้ายประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เห็นอยู่เรียงรายตลอดแนวสองข้างทางไปจนถึงบริเวณจัดงาน ณ.บริเวณสนามกีฬากลางประจำจังหวัดสุรินทร์ มีร้านค้า ร้านขายของกินของใช้ ชิงช้า ม้าหมุน เครื่องเด็กมากมาย นอกจากนี้ยังมีร้านแสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของทุก ๆ อำเภอมารวมกัน เป็นที่ตื่นตาตื่นใจซึ่งแต่ละอำเภอจัดไว้อย่างสวยงาม บุหงาและน้อง ๆ ต่างชี้ชวนให้กันดูแล้วหันมายิ้มให้กันอย่างเป็นสุข แม่จูงมือบุหงากับน้องแล้วบอกว่า “อย่ามัวเพลินอยู่เลย รีบไปดูพลายบุญมาแสดงในงานจะดีกว่า” บุหงามองแต่ไกลเห็นขบวนช้างมากมาย นั่นต้องเป็นขบวนช้างศึกตัวที่เดินนำหน้า บุหงาจำได้พลายบุญมานั่นเอง ประดับประดาไว้อย่างสมจริงเหมือนช้างศึกในพระบาทสมเด็จพระเจ้านเรศวรมหาราช ที่บุหงาเคยเห็นในหนังสือเรียนไม่มีผิด เมื่อขบวนผ่านมาใกล้ ๆ บุหงาและน้อง ๆ ปรบมือพร้อม ๆ กับผู้ชมเสียงดังกึกก้อง ไม่รู้ว่าพลายบุญมากับพ่อจะได้ยินหรือเปล่า ในช่วงบ่ายเป็นการแสดงช้างแสนรู้ ช้างชักคะเย่อ ช้างวิ่งเก็บของ ช้างสวัสดี ช้างเต้นรำ ช้างวิ่งเปียว ช้างเดินข้ามคนและช้างเตะฟุตบอล พลายบุญมาแสดงได้อย่างคล่องแคล่วเป็นที่ถูกใจของผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง บุหงาแอบยิ้มด้วยความภาคภูมิใจ สมแล้วที่ปู่กับพ่อได้ฝึกฝนมาเป็นแรมปี
การแสดงชุดสุดท้ายเป็นการแสดงการอำลาท่านผู้ชมในงาน เป็นที่ประทับใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก เสมือนหนึ่งว่าบรรดาช้างและเจ้าของช้างฝากความคิดถึงทุก ๆ คน ปีหน้าฟ้าใหม่หวังว่าคงได้มาพบกันอีก บรรยากาศในขณะนั้นทั้งผู้ชมและช้างต่างก็มีความรัก ความผูกพันต่อกันและกัน แต่ก็ต้องจากกันไปในที่สุดของการแสดงนั่นเอง
บุหงารู้สึกภาคภูมิใจและปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด ที่ได้เกิดมาเป็นคนสุรินทร์ พลายบุญมาก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสุรินทร์ และประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวโลกด้วยเช่นกัน
เสร็จจากงานช้างครอบครัวของบุหงา ก็ดำเนินชีวิตเหมือนเช่นเคยย่างเข้าหน้าแล้งแล้ว ปู่กับพ่อปรึกษากันว่าจะต้องพาพลายบุญมาไปรับจ้างหาเงินที่กรุงเทพฯ หากยังอยู่กันอย่างนี้คงไม่มีอะไรจะกินและใช้จ่ายภายในครอบครัว ทั้งคนทั้งช้างอาจจะอดตายในหน้าแล้งที่จะมาถึงก็เป็นได้ ปู่บอกว่าเพื่อนบ้านเราหลายคนพาช้างไปเดินตามถนนต่าง ๆ ที่กรุงเทพ ฯ ให้นักท่องเที่ยวหรือคนในเมืองช่วยซื้ออ้อย แตงกวา และแตงโมจากเจ้าของช้างให้ช้างกิน ได้เงินมาสร้างบ้านหลังใหม่กันก็มี บุหงาอดสงสารไม่ได้ ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นด้วย ปู่พูดต่อไปว่า สมัยที่ปู่เลี้ยงช้างนั้นสองฝั่งแม่น้ำมูลเต็มไปด้วยป่าไม้เขียวขจี มีต้นไผ่ขึ้นแน่นขนัด ทั้งใบไผ่และหน่อไม้เป็นอาหารที่ช้างชอบมากที่สุด ช้างจะหากินเองทั้งวัน เวลามันร้อนและหิวน้ำ มันก็จะลงไปกินน้ำในแม่น้ำมูล ตกตอนเย็นเจ้าของช้างจึงจะนำช้างกลับมาล่ามโซ่ไว้ที่บ้าน หลายสิบปีผ่านไปป่าไม้สองฟากฝั่งแม่น้ำมูลถูกพวกนายทุนบุกรุกถากถางทำไร่ ทำสวนและมีกลุ่มคนย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาศัยกันมากขึ้น ทำให้ป่าไผ่ หน่อไม่ที่เคยอุดมสมบูรณ์หมดไปในที่สุด เป็นสาเหตุให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของช้างและคนเลี้ยงช้างเปลี่ยนไป เมื่อช้างไม่มีอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ คนเลี้ยงช้างจึงต้องนำช้างออกเร่หาเงินตามเมืองใหญ่ ๆ เพื่อความอยู่รอดในการดำรงชีวิตทั้งคนและช้างกันต่อไป
บุหงานึกสงสารพลายบุญมาที่ต้องจากบ้านจากแม่น้ำมูล จากทุ่งหญ้า ท้องฟ้าที่มีอากาศบริสุทธิ์ เพราะความเห็นแก่ได้และเห็นแก่ตัวของมนุษญย์นั่นเองที่ไม่เห็นความสำคัญของป่าไม้ จึงไม่ช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นของส่วนรวมจนเป็นต้นเหตุให้ครอบครัวของบุหงาและพลายบุญมา ต้องพบกับปัญหาจนเท่าทุกวันนี้
หลายเดือนแล้วที่พลายบุญมาและพ่อจากบ้านไปหาเงินที่กรุงเทพฯ บุหงานึกถึงภาพของพลายบุญมากับพ่อ ที่ต้องเดินป่าเปลวแดดบนถนนคอนกรีตแล้วตระเวนไปในย่านชุมชนต่าง ๆ บุหงารู้ว่าอากาศในกรุงเทพ ฯ โดยเฉพาะปลายเดือนเมษายนอากาศจะร้อนอบอ้าวมากที่สุด
พลายบุญมาต้องเดินเท้าเปล่าทั้งวัน มันคงร้อนและทรมานเป็นที่สุด บุหงานอนคิดพ่อกับพลายบุญมาทุกคืน ก่อนสว่างบุหงาไม่ได้ยินเสียงพลายบุญมาถูเสาเรือนมานานแล้ว บุหงาได้แต่ถามแม่ว่า ตำรวจจะจับพ่อกับพลายบุญมาหรือเปล่า เพราะคุณครูเล่าให้ฟังเสมอว่า ปัจจุบันนี้ทางตำรวจห้าไม่ให้นำช้างไปเดินเร่หาเงิน หรือเกะกะอยู่บนท้องถนนเด็ดขาด โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพฯ เพราะกีดขวางทางจราจรและเป็นการทรมานสัตว์ด้วย ควรให้ช้างเหล่านั้นได้ไปอยู่และหากินตามธรรมชาติ หากพบที่ใดเขาจะจับทั้งคนและช้างให้กลับเดิม บุหงาดีใจที่พลายบุญมาจะได้กลับบ้านเสียที แต่ก็รู้สึกเสียใจและสงสารพ่อเช่นกัน
บ่ายวันหนึ่งบุหงามองขึ้นไปบนท้องฟ้า เห็นก้อนเมฆลอยต่ำสีดำ ก้อนหนึ่งช่างดูคล้าย ๆ กับพลายบุญมา สักครู่ลมร้อน ๆ ก็พัดเอาก้อนเมฆที่เป็นรูปช้างก้อนนั้น กระจายหายไปในอากาศ
บุหงาได้ยินเสียงรถวิ่งมาหยุดตรงกลางสี่แยกของหมู่บ้าน เสียงคนพูดกันดังโวกเวก ทักทายกันด้วยความดีใจ บุหงาหันไปดู จำได้ว่าเป็นรถขนช้างประจำหมู่บ้าน บุหงาดีใจมากไม่นึกว่าพ่อจะกลับมาในวันนี้ บุหงาตะโกนเรียกพ่อด้วยความดีใจแล้วรีบวิ่งไปหาพ่อทันที พ่อมองบุหงาด้วยสีหน้าแปลก ๆ จนบุหงาอดสงสัยไม่ได้ บุหงามองไปยังท้ายรถคันนั้นก็ไม่เห็นมีช้างสักตัว บุหงาจึงหันไปถามพ่อว่า”พลายบุญมาไม่ได้กลับมาพร้อมกับพ่อหรือคะ” พ่อลูบหัวบุหงาเบา ๆ แล้วพูดด้วยสีหน้าเศร้าสร้อยว่า “เจ้าพลายบุญมาตายแล้ว” พ่อเล่าว่าพลายบุญมาเดินไปตกท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ ขาหน้าได้รับบาดเจ็บจนเป็นแผลอักเสบอย่างรุนแรง หมอบอกว่าเป็นบาดทะยัก หลังจากนั้นก็ไม่สามารถเดินไปไหนได้ พลายบุญมาไม่ยอมกินอะไรเลย ผอมโซจนยืนไม่ไหว ในที่สุดก็ขาดใจตาย น้ำตาของบุหงาไหลลงอาบแก้มทั้งสองข้างอย่างไม่รู้ตัว หัวใจตีบตันไปหมด อยากให้เสียงร้องของบุหงาดังก้องไปกับลำน้ำมูล บอกให้พลายบุญมากลับมาอยู่ด้วยกัน มาทำหน้าที่ช้างแสนรู้เหมือนเมื่อก่อน ฉันและน้อง ๆ ยังเรียนไม่จบ อีกทั้งงานช้างจังหวัดสุรินทร์ก็ยังรอเจ้าอยู่ พลายบุญมาเจ้าไปอยู่ที่ไหน กลับมาเถิดเจ้ายังตายไม่ได้ บุหงารำพึง
ต่อไปนี้หมู่บ้านขวาวโค้งจะไม่เห็นพลายบุญมาอีกแล้ว บุหงาทรุดตัวนั่งร้องไห้โฮจนสุดเสียง ณ ที่ตรงนั้นนั่นเอง


แบบคำถามท้ายเรื่อง

คำชี้แจง สำหรับนักเรียนฝึกตอบคำถามหลังจากอ่านจบเรื่องแล้ว
๑. พลายบุญมา หมายถึงใคร
๒. ครอบครัวของบุหงา ใช้แรงงานจากสัตว์ชนิดใด
๓. งานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ คืออะไร
๔. คำขวัญของจังหวัดสุรินทร์ ว่าอย่างไร
๕. นักเรียนบอกประโยชน์ของช้างมา ๕ อย่าง
๖. พลายบุญมามีความสำคัญต่อครอบครัวของบุหงาอย่างไร
๗. ทำไมพ่อจึงต้องงพาพลายบุญมาไปกรุงเทพฯ
๘. เพราะเหตุใดพลายบุญมา จึงไม่ได้กลับบ้านพร้อมกับพ่อ
๙. บุหงารู้สึกอย่างไรกับพลายบุญมา
๑๐. นักเรียนอ่านเรื่องนี้แล้ว ได้ข้อคิดจากเรื่องอย่างไร


********************************************

ไม่มีความคิดเห็น: