วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2550

สี่สหายเจ้าปัญญา

สี่สหายเจ้าปัญญา
เรื่องโดย พิมพา ฤทธิรณ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีชายสี่คนเป็นเพื่อนรักกันมาก คนที่หนึ่งชื่อว่าเจ้าหัวล้าน ซึ่งมีหัวล้านมาก เมื่อหัวล้านเจอแดด นายหัวล้านจะร้อนมากจนทนแทบไม่ไหว คนที่สองชื่อเจ้าเหามาก มีเหาขึ้นเต็มหัว มีอาการคันมากไปที่ไหนก็ได้แต่เกาหัวอยู่เสมอ ๆ คนที่สามชื่อว่านายขี้มูกมาก ไปที่ไหนขี้มูกจะไหลไม่ขาด คนสุดท้าย ชื่อนายตาแฉะ ไปที่ไหนจะใช้มือไล่แมลงหวี่ออกจากตาเสมอ ๆ
อยู่มาวันหนึ่งทั้งสี่คนเดินมาพบกันกลางหมู่บ้าน ต่างคนต่างชี้หน้าด่ากันว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดี จึงเกิดการท้าทายกัน โดยได้ตกลงกันว่า ใครจะอดทนกว่ากัน คนหัวล้านก็ห้ามลูบหัว คนเหามากก็ห้ามเกาหัว คนขี้มูกไหลก็ห้ามเช็ดขี้มูกและคนตาแฉะก็ห้ามไล่แมลงหวีโดยเด็ดขาด
เช้าวันรุ่งขึ้นทั้งสี่คนก็มาตามนัดกลางหมู่บ้าน แล้วพากันพายเรือไปกลางแม่น้ำให้ถูกแดดร้อนจัด เจ้าหัวล้านร้อนจนเหงื่อออกเต็มหัวล้านก็ทนเอากลั้วจะแพ้เพื่อน ๆ เจ้าเหามากทั้งร้อนทั้งคัน ก็ไม่กล้าเกาหัวอดทนเอาไว้
เจ้าขี้มูกไหลยาวออกมาก็สูดกลับคืนไม่กล้าเช็ค ส่วนเจ้าตาแฉะทั้งร้อนและมีแมลงหวี่บินมาตอมลูกตาก็ต้องทนเอากลัวจะแพ้เพื่อน ๆ เช่นกัน
ทั้งสี่คนยิ่งอยู่บนเรือนานก็ยิ่งร้อน ทุกคนต่างก็ทรมานใจเหลือเกินได้แต่นิ่งอดทนไม่กล้าทำตามใจต้องการได้
เจ้าหัวล้านทนไม่ไหวจึงออกอุบายตะโกนบอกเพื่อน ๆ ว่า เฮ้ย ๆ เมื่อวานนี้ข้าได้มาพบช้างตัวหนึ่งมันใช้งวงจุ่มน้ำแล้วพ่นใส่หัวมันอย่างนี้ ว่าแล้วเจ้าหัวล้านก็ทำท่าเอามือวิดน้ำมาใส่หัวล้านตนเอง จึงเย็นลงได้สำเร็จ ฝ่ายเจ้าเหามากก็ทนไม่ไหวเห็นเจ้าหัวล้านใช้ปัญญาเอาตัวรอดไปได้ จึงตะโกนสนับสนุนว่า ใช่แล้วเมื่อวานข้าก็เห็นกวางมันก็ยืนอยู่ใต้ต้นไม้ เขามันยาว ๆ อย่างนี้ พร้อมทำท่ายกมือมาทำเขากวางพลางใช้นิ้วเกาหัวตัวเองจึงหายคัน ฝ่ายเจ้าขี้มูกมากเห็นดังนั้น จึงพูดขึ้นเช่นกันว่า ใช่แล้วเมื่อวานนี้ข้าก็ได้เอาธนูมายิงกวางด้วย ว่าแล้วก็ยกมือขึ้นทำท่ายิงธนูออกไป โดยใช้หลังมือเช็คขี้มูกออกจนได้ กล่าวถึงเจ้าตาแฉะซึ่งนั่งอยู่ท้ายเรือมีแมลงหวี่ตอมขี้ตาเต็มไปหมดก็ทนไม่ไหวเหมือนกัน เห็นเพื่อน ๆ ทั้งสามใช้ปัญญาอย่างนั้น จึงยกมือทั้งสองขึ้นไล่แมลงหวี่ พร้อมกับพูดขึ้นว่า เรื่องทั้งหมดที่พวกเอ็งเล่ามาแล้วนั้น กูไม่เชื่อ กูไม่เชื่อ พลางใช้มือไล่แมลงหวี่ไปจนหมด
ผลปรากฏว่าไม่มีใครแพ้ ใครชนะทุกคนเสมอกัน ต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้านไม่กล้ามาท้าทายกันอีกเลย



นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า :
การรู้จักคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างแยบยลก็จะสามารถเอาตัวรอดได้
อย่างไม่เสียเชิง..


ที่มา: โสฬส แสงศรี. (ม.ป.ป.)นิทาน ๕ นาที. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์นานาบุ๊ค.

คำถามประจำบท

คำชี้แจง ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้
. ตัวละครในเรื่องใช้สติปัญญาแก้ปัญหา อย่างไร
. นักเรียนมีความรู้สึกอย่างไร เมื่ออ่านนิทานเรื่องนี้แล้ว
. นิทานเรื่องนี้ให้ข้อคิดอย่างไร

**************************************

ไม่มีความคิดเห็น: