วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2550

กรรมตามสนอง

กรรมตามสนอง
เรื่องโดย พิมพา ฤทธิรณ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีครอบครัวหนึ่งอยู่ด้วยกันสามคนคือ แม่เฒ่าผู้ตาบอด ลูกชายและลูกสะใภ้
ฝ่ายลูกสะใภ้นั้นเป็นคนนิสัยใจคอฉุกเฉียว โมโหร้ายโกรธง่าย เมื่อมาอยู่กับย่าตาบอดก็ยิ่งรำคาญหัวใจและเกลียดชังย่ายิ่งนัก เวลาผัวไม่อยู่บ้านลูกสะใภ้มักหาเรื่องกลั่นแกล้งอยู่บ่อย ๆ เช่นแกล้งเอาไม้ไปขวางทางเดินเพื่อให้ย่าหกล้ม แกล้งเอาดินใส่ก่องข้าวเพื่อให้ย่ากินข้าวผสมดิน หรือแอบเอารังมดแดงมาเคาะไว้กับเสื้อผ้าหรือผ้าห่มย่า สารพัดต่าง ๆ นานาที่จะให้ย่าได้รับอันตราย
อยู่มาวันหนึ่ง ฝ่ายผัวออกไปทำงานนอกบ้าน ลูกสะใภ้จึงไปช้อนปลิงตามหนองน้ำมาแกงให้ย่ากิน ซึ่งปกติแล้วจะไม่มีใครกินปลิง เพราะน่าเกลียดน่ากลัว และมีเนื้อหนังที่หยาบเหนียวอีกด้วย พอแกงเสร็จ ก็นำไปให้ย่ากิน บอกว่าเป็นแกงเครื่องในควาย ย่าเคี้ยวเท่าไหร่ก็ไม่ขาดได้แต่นึกในใจว่าเป็นควายแก่ ลูกสะใภ้ว่าควายแก่หนังเหนียวอย่างนี้แหละ กินไปเถอะย่าได้ยินดังนั้นก็จำใจกลืนกิน กินไปสักพักปลิงเกิดติดคอย่า หายใจไม่ได้จึงถึงแก่ความตาย ลูกสะใภ้รีบนำแกงปลิงไปผังดินเพื่อไม่ให้ผัวรู้
พอผัวกลับมาถึงบ้านได้แต่ร้องไห้ ด้วยความเสียใจที่แม่ตาย จึงถามเมียว่าทำไมแม่ถึงตาย ผู้เป็นเมียบอกว่าแม่กินข้าวเหนียวไปมาก จึงสำลักหายใจไม่ได้ ตนเองช่วยอย่างไรก็ช่วยไม่ได้ แม่จึงตายในที่สุด จากนั้นก็พากันจัดการศพย่าตามประเพณี แล้วก็ถึงเวลาจะนำศพไปเผาที่ป่าช้า จึงให้ชาวบ้านมาช่วยกันยกศพ แต่ยกเท่าไหร่ก็ยกไม่ขึ้น ให้ลูกชายมายกก็ยกไม่ขึ้น ยังเหลือแต่ลูกสะใภ้คนเดียวที่ยังไม่ได้ยก จึงให้ลูกสะใภ้มาลองยกดู
เมื่อลูกสะใภ้เดินเข้าใกล้ศพย่าเท่านั้นเอง ศพก็พุ่งขึ้นบนบ่า โดยไม่ต้องยกต้องหามแต่อย่างใด ยังความแปลกใจแก่ชาวบ้านเป็นยิ่งนัก ลูกสะใภ้ จึงได้หามศพเป็นเป็นย่า เดินตรงไปยังป่าช้าท้ายหมู่บ้าน
เมื่อมาถึงบริเวณที่จะวางศพลงเพื่อจะทำการเผา ชาวบ้านและลูกชายจึงช่วยกันยกศพ ออกจากบ่าลูกสะใภ้ แต่ปรากฏว่าแกะเท่าไหร่ก็แกะศพไม่ออก ลูกสะใภ้ตกใจมาก จึงดินทุรนทุรายจนขาดใจตาย ซึ่งมีศพย่าทับอยู่บนร่างนั่นเอง หลวงพ่อบอกว่าคงเป็นกรรมของเขาเอง ซึ่งอาจจะทำกรรมไว้กับย่ามาก จึงต้องมาตายด้วยกัน
หลังจากนั้นชาวบ้านจึงเผาทั้งย่าและลูกสะใภ้ พร้อม ๆ กันในป่าช้านั่นเอง….
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า.
- ความโกรธ ความโมโหเป็นสิ่งไม่ดี เป็นเหมือนไฟเผากายและใจตนเองนั่นเอง
- ใครทำความดีก็จะได้รับผลดี หากใครทำชั่วก็จะได้รับกรรมชั่ว
- การทำความทุกข์ให้ผู้อื่น ทุกข์นั้นย่อมมาถึงตัว
ที่มา: สำลี รักสุทธี. (๒๕๔๔). นิทานพื้นบ้านและตำนานการก่อตั้งจังหวัด.
กรุงเทพมหานคร: ธนรัชการพิมพ์.

คำถามประจำบท

คำชี้แจง ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้
. ลูกสะใภ้มีนิสัย อย่างไร
. จงบอกการกระทำที่ไม่ดีของลูกสะใภ้
. เพราะเหตุใด ย่าจึงตาย
. นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้เกี่ยวกับเรื่องอะไร
. การกระทำของลูกสะใภ้ตรงกับสุภาษิตไทย ว่าอย่างไร

******************************

ไม่มีความคิดเห็น: