วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2550

นกมีหูหนูมีปีก

นกมีหูหนูมีปีก

เรื่องโดย พิมพา ฤทธิรณ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เกิดสงครามขึ้นระหว่างสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งอยู่บนโลกนี้ต่างก็แตกแยกกันออกเป็นสองพวกใหญ่ ๆ เพื่อทำสงครามแย่งที่อยู่อาศัยกัน โดยพวกสัตว์สี่เท้าก็นับตั้งแต่หนูเล็ก ๆ จนถึงช้าง ซึ่งสัตว์จำพวกนี้มีลักษณะเหมือน ๆ กัน มีสี่เท้าและมีใบหูเหมือนกันได้รวมตัวกันทั้งหมด แล้วยกให้ราชสีห์เป็นหัวหน้าทำสงครามสัตว์
ส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นสัตว์จำพวกมีปีก นับตั้งแต่แมลงมีปีกตัวเล็ก ๆ ไปจนถึงพญานกอินทรีย์ ได้รวมตัวกันจนหมดสิ้น แล้วยกให้นกอินทรีย์เป็นหัวหน้าทำสงครามสัตว์ สัตว์ทั้งสองฝ่ายเปิดฉากทำสงคราม ไล่กัดจิกตีกันดังลั่นไป
ทั้งป่า ไม่เว้นแต่ละวันสัตว์น้อยใหญ่ทั้งพวกมีหูและพวกมีปีกล้มตายเป็นอันมาก พลัดกันแพ้ พลัดกันชนะ
แต่มีสัตว์พวกหนึ่ง คือค้างคาวเป็นสัตว์โกหกพูดตลบตะแลง ไม่เคยยอมเป็นฝ่ายแพ้ใคร เมื่อฝ่ายใดชนะก็จะอ้างว่าตัวเองอยู่ฝ่ายนั้นอยู่เรื่อยไป เมื่อฝ่ายราชสีห์ชนะ ค้างคาวก็บอกว่าเป็นฝ่ายราชสีห์เพราะเรามีใบหูเหมือนกัน ค้างคาวก็ชนะด้วยไม่ยอมแพ้ เมื่อถึงคราวฝ่ายพญานกอินทรีย์เป็นฝ่ายชนะ ค้างคาวก็อ้างว่าเป็นพวกเดียวกันด้วยไม่ยอมแพ้เพราะมีปีกเหมือนกัน จึงไม่ยอมเป็นฝ่ายแพ้ ค้างคาวทำเช่นนี้มาตลอดไม่เคยแพ้สักทีเลย
หลายปีต่อมาสัตว์ต่าง ๆ เริ่มเหลือน้อยลง เนื่องจากการตายในสงครามสัตว์ จึงรวมกันเจรจากันขอสงบศึก เลิกทำสงครามกันให้หันหน้าเข้าหากัน ต่างคนต่างอยู่ แยกย้ายกันทำที่อยู่อาศัย พวกมีปีกก็อยู่กลางอากาศและบนต้นไม้สูง นกต่าง ๆ ให้ทำรังอยู่ ส่วนพวกมีหู เช่น ราชสีห์ให้อยู่ตามถ้ำ หนูให้ขุดรูอยู่ ส่วนค้างคาวอ้างว่าเราไม่ช่วยหนูขุดรูหรอก เราจะไปทำรังอยู่เหมือนนกเพราะเรามีปีก เมื่อนกขอร้องให้ช่วยทำรัง ค้างคาวก็อ้างว่าเราเป็นพวกหนู เพราะเรามีหูเราจะไปอยู่กับหนู ตกลงค้างคาวเลยไม่ได้ช่วยเพื่อนทำอะไรเลย สัตว์ต่าง ๆ ได้ประชุมกันว่าค้างคาวเป็นสัตว์พูดตลบตะแลงไม่มีความจริงใจกับฝ่ายใด จึงตัดสินลงโทษค้างคาว ให้ค้างคาวเวลานั่งก็ให้เอาหัวลง เวลานอนก็ให้เอาหัวขึ้น กินก็ให้เอาหัวลง ให้มองเห็นเฉพาะเวลากลางคืนและให้มีที่อยู่อาศัยที่เป็นมุมมืด ตั้งแต่นั้นมาค้างคาวจึงต้องเอาหัวลงพื้นเสมอ ๆ และออกหากินเฉพาะเวลากลางคืน กลางวันอาศัยอยู่ในที่มืด ๆ ตลอดมาตราบเท่าทุกวันนี้
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า :
- การพูดกลับไปกลับมา ไม่มีความจริงใจกับใคร ย่อมอยู่อย่างไม่เป็นสุข และไม่มีใครอยากเป็นเพื่อนด้วย
- การเอาเปรียบผู้อื่นเสมอ ๆ เป็นสิ่งไม่ดี ทำให้ผู้อื่นรังเกียจได้



ที่มา: สำลี รักสุทธี. (๒๕๔๔). นิทานพื้นบ้านและตำนานการก่อตั้งจังหวัด.
กรุงเทพมหานคร: ธนรัชการพิมพ์.



คำถามประจำบท

คำชี้แจง ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้
. เกิดสงครามระหว่างใครกับใคร
. เพราะเหตุใดค้างคาว จึงไม่เคยแพ้สงคราม
. ค้างคาว มีนิสัยอย่างไร
. สัตว์ต่าง ๆ ลงโทษค้างคาวอย่างไร
. นิทานเรื่องนี้ให้ข้อคิดอย่างไร

*****************************************

ไม่มีความคิดเห็น: